สารพัดปัญหาของ อาแจ็กซ์ 2023/24 บนภาพสะท้อนของวิถีการทำทีม – FEATURE

สารพัดปัญหาของ อาแจ็กซ์ 2023/24 บนภาพสะท้อนของวิถีการทำทีม – FEATURE

เมื่อวันอาทิตย์ อาแจ็กซ์ แพ้ อูเทร็คท์ 3-4 นับเป็นการแพ้ 4 จาก 7 เกมแรก ไม่น่าเชื่อว่าทีมอย่าง อาแจ็กซ์ จะกลายเป็นรองบ๊วยของ เอเรดิวิซี่ และนี่คือสารพัดปัญหาของ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม บนภาพสะท้อนในวิถีการทำทีมของพวกเขาเอง

FC Utrecht v Ajax - Dutch EredivisieFC Utrecht v Ajax – Dutch Eredivisieก่อนพักเบรคก็แล้ว หลังพักเบรคก็แล้ว ยังชัดเจนไม่เปลี่ยนว่า “สารพัดปัญหา” ที่รุมเร้า อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม ทำให้ ณ ตอนนี้ มหาอำนาจฟุตบอลกังหัน เจ้าของแชมป์ลีก 36 สมัย, ทีมที่เฉียดใกล้นัดชิง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก แค่เอื้อมเมื่อไม่กี่ปีก่อน และทีมที่โด่งดังสุดในประเทศอย่างพวกเขา จมโคลนตมที่ “รองบ๊วย” อันดับ 17 ในตาราง เอเรดิวิซี่ นับเป็นผลงานการเริ่มต้นซีซั่นที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ทีเดียว

ผลงานมีปัญหา

  • ท็อป 4 เอเรดิวิซี่ 2023/24

    1. พีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น – ชนะ 9 แต้ม 27

    2. อาแซด อัล์คมาร์ – ชนะ 8 เสมอ 1 แต้ม 25

    3. เฟเยนูร์ด ร็อตเตอร์ดัม – ชนะ 7 เสมอ 2 แต้ม 23

    4. ทเวนเต้ – ชนะ 7 เสมอ 1 แพ้ 1 แต้ม 22

  • ท้ายตาราง เอเรดิวิซี่ 2023/24

    15. ฮีเรนวีน (เตะ 9) – ชนะ 2 เสมอ 1 แพ้ 6 แต้ม 7

    16. อูเทร็คท์ (เตะ 9) – ชนะ 2 แพ้ 7 แต้ม 6

    17. อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม (เตะ 7) – ชนะ 1 เสมอ 2 แพ้ 4 แต้ม 5

    18. โฟเลนดัม (เตะ 8) – ชนะ 1 เสมอ 1 แพ้ 6 แต้ม 4

ไม่ได้อยู่ในที่ชอบๆ อย่าง 3 อันดับแรก หรืออย่างน้อยก็ท็อป 5 แต่ อาแจ็กซ์ พบตัวเองตกต่ำถึง “รองบ๊วย” อันดับ 17 ของตาราง เอเรดิวิซี่ ด้วยผลงาน 7 เกมแรกที่ติดลบอย่างรุนแรง ชนะ 1 เกมถ้วน ที่เหลือเสมอ 2 และแพ้แล้วถึง 4 เกม ตามหลังจ่าฝูง พีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น (ที่ชนะ 9 นัดรวด) แบบมองกันไม่เห็น 22 แต้ม

 ชัยชนะเกมเดียวที่ตกถึงท้อง อาแจ็กซ์ คือเกมเปิดสนามที่ออกตัวซะสวย ถลุง เอราเคลส อัลเมโล 4-1 สตีเฟ่น เบิร์กไวน์ อดีตแข้งสเปอร์ส ซัด 2

ทว่าหลังจากนั้น…

  • เสมอ เอ็กเซลซิเออร์ 2-2

    เสมอ ฟอร์ทูน่า ซิตตาร์ด 0-0

    แพ้ ทเวนเต้ 1-3

    แพ้ เฟเยนูร์ด 0-4

    แพ้ อาแซด อัล์คมาร์ 1-2

    ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ 22 ต.ค. ก็แพ้ อูเทร็คท์ 3-4

ที่จริง อาแจ็กซ์ ก็ “ได้ลุ้นชนะ” แล้วสำหรับเกมที่อูเทร็คท์ เมื่อเป็นฝ่ายแซงนำ 3-2 กลางครึ่งหลัง คริสเตียน ฮินส์สัน ซัดสอง สตีเฟ่น เบิร์กไวน์ บวกจุดโทษอีก 1 แต่ก็ปรากฏว่าแผ่วปลายตามเคย โดนตีเสมอ 3-3 เร็ว และโดนยิงแพ้ 3-4 เอาในนาทีสุดท้าย

นี่เป็นการเริ่มต้นซีซั่นที่เลวร้ายสุดในประวัติศาสตร์สโมสร แย่กว่าสถิติเก่าในซีซั่น 1964/95 ที่ตอนนั้นแพ้ 3 จาก 6 เกมแรก เสียอีก

นอกจากเกมลีกแล้ว ระหว่างนั้นยังมีคั่นกลางด้วย 2 เกม ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก รอบแบ่งกลุ่ม ที่ผลงานก็ออกทรงหนืดพอกัน เสมอ โอลิมปิก มาร์กเซย 3-3 ต่อด้วยเสมอ เออีเค เอเธนส์ 1-1 ส่วนสิ้นเดือนก่อนต่อต้นเดือนนี้ จะเป็นคิวเหย้าเยือนกับ ไบรท์ตัน & โฮฟ อัลเบี้ยน สำหรับเกมที่ 3 และ 4 ของรอบแรก ยูโรป้า ลีก

อย่างไรก็ตาม โฟกัสคงไม่ได้อยู่ที่เกมซึ่งยังมาไม่ถึง แต่เป็นตลอด 7 เกมลีกดัตช์ที่ผ่านมา ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ปัญหาอยู่ที่ตรงไหนถึงทำให้ อาแจ็กซ์ ออกทะเลหาปูหาปลาไปไกลแสนไกลได้ขนาดนี้

Maurice SteijnMaurice Steijnโปรแกรมมีปัญหา

แรกสุดแน่นอนว่า ฟอร์มการเล่นมีปัญหา แนวรุกอาแจ็กซ์ชุดนี้ที่มีตัวเลือกอย่าง สตีเฟ่น เบิร์กไวน์, ไบรอัน บร๊อบบี้ย์, คาร์ลอส ฟอร์บส์, ชูบา อัคพอม, สตีเฟ่น เบิร์กฮุยส์ รวมถึง จอร์เจส มิคอทัดเซ่ หัวหอกจอร์เจียที่ยิง ไทย คนเดียว 4 ประตูในชัยชนะ 8-0 (แต่เป็นสำรองของอาแจ็กซ์ ซีซั่นนี้ลงตัวจริง 1 สำรอง 3) ยิงรวมกันได้แค่ 8 ประตูจาก 6 เกมแรก (แล้วเพิ่งมายิงเพิ่ม 3 เม็ดในเกมล่าสุด) ขณะที่หลังบ้าน (ประตูใช้ เจย์ กอร์เตอร์ เด็กปั้นอายุ 23 / กองหลังตัวโนเนมแทบทั้งหมด) ก็เสียแล้วถึง 16 ลูก นั่นคือค่าเฉลี่ยเสียเกมละมากกว่า 2 ประตูเสียอีก

สถิติประตูได้เสียเหล่านั้น บอกชัดถึงความ “ไม่พอดี” ของ อาแจ็กซ์ ชุดสายเลือดใหม่นี้ ที่ก็ยังต้องถูกรบกวนใจด้วยปัญหาเรื่องโปรแกรม เมื่อตามจริงแล้ว พวกเขาควรเตะผ่าน 9 นัดเหมือนทีมอื่นๆ แต่ปรากฏว่า…

เกมที่ 5 “Klassieker derby” อาแจ็กซ์ – เฟเยนูร์ด ร็อตเตอร์ดัม 24 ก.ย. เล่นไปได้ถึงต้นครึ่งหลัง น.55 เมื่อแฟนบอลฝั่ง อาแจ็กซ์ โยนพลุไฟลงสนามเป็นรอบที่ 2 (หลังจากครึ่งแรกมีโยนลงมาแล้ว และโดนสั่งหยุดเกมชั่วคราวเป็นการเตือนแล้วด้วย) เพื่อประท้วงทีมรักที่ “เล่นยังไงฟะ” ครึ่งแรกถึงได้ตามหลัง 0-3 นั้น ผู้ตัดสินก็สั่งยกเลิกเกมทันที

นัดดังกล่าวนี้ถูกขยับไปเตะต่อสำหรับช่วงเวลาที่เหลือ นาที 56 เป็นต้นไป ใน 3 วันให้หลัง หรือ 27 ก.ย. (และ เฟเยนูร์ด ยิงเพิ่มอีกเม็ด เช็คบิลชนะขาด 4-0) ส่งผลโดยตรงให้เกมระหว่าง อาแจ็กซ์ – โฟเลนดัม ซึ่งเดิมทีถูกวางไว้ในวันนั้น (27 ก.ย.) ต้องขยับถอยออกไปเป็น 2 พ.ย. แทน

ยังมีเกมเมื่อสิ้นเดือน 30 ก.ย. ซึ่ง อาแจ็กซ์ ต้องออกไปเยือน อาร์เคซี วาลไวค์ และเล่นกันอย่างสนุก อาแจ็กซ์ นำ 3-2 จากการยิงของ บร๊อบบี้ย์, จุดโทษของ เบิร์กไวน์ และลูกกลับตัวซัดของ เบิร์กฮุยส์ นั้น ต้องหยุดเล่นในช่วงนาที 84 ภายหลังนายทวารเจ้าถิ่น เอเตียนน์ เฟสเซ่น หมดสติคาปากประตูหลังเข้าปะทะกับ บร๊อบบี้ย์ จนต้องหามส่งโรงพยาบาลเป็นการเร่งด่วน และผู้ตัดสินก็ตัดสินใจเป่ายกเลิกเกมไปในที่สุด

เกมนี้ถูกวางไว้เตะใหม่ 6 ธ.ค. ซึ่งจะเตะกันในเฮือกสุดท้ายที่เหลือบวกทดเจ็บอีกเล็กน้อย เท่ากับ อาแจ็กซ์ มี “ทดไว้ในใจ” 3 คะแนน หากว่าจะไม่ไปพลาดโดนทวงนาทีบาปในคิวแข่งใหม่

หนึ่งเกมถูกเลื่อนไปเดือนหน้า หนึ่งเกมถูก hold ไว้เพื่อไปเตะต่อตอนปลายปี

เท่ากับ อาแจ็กซ์ เพิ่งผ่านไปแค่ 7 นัด และด้วยความที่จำนวนแต้มทีมครึ่งล่างของตารางชิดกันแบบไหล่ชนไหล่ อันดับ 10 ไปจนถึง 18 ห่างกันแค่ 5 แต้ม

อาแจ็กซ์ จึงพบตัวเองอยู่ที่รองบ๊วย เอเรดิวิซี่ ตอนนี้

RKC Waalwijk v AFC Ajax - Dutch EredivisieRKC Waalwijk v AFC Ajax – Dutch Eredivisieภายในมีปัญหา

ภายหลัง เอริค เทน ฮาก สละเก้าอี้ไปรับงานกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เมื่อปีที่แล้ว บอร์ดอาแจ็กซ์เลือกคว้า อัลเฟรด ชรอยเดอร์ อดีตผู้ช่วยของ เทน ฮาก ตอนปี 2018 ที่เพิ่งพา คลับ บรูช ครองแชมป์ลีกเบลเยียมได้ไม่นาน กลับเข้ามาทำทีมแทน

แต่ผ่านไปได้แค่ครึ่งปี ปลายเดือน ม.ค. 2023 ชรอยเดอร์ ก็โดนเด้ง เซ่นสังเวยผลงานหนืดจัดๆ เสมอ 6 เกมรวดในลีก และชนะแค่ 3 จาก 12 นัดหลังของช่วงนั้น

อาแจ็กซ์ เลือกที่จะ “เลื่อนขั้น” ให้ จอห์นนี่ ไฮติงก้า อดีตกองหลังทีมชาติเนเธอร์แลนด์ (และ แอตฯ มาดริด, เอฟเวอร์ตัน, ฟูแล่ม) ขยับจากงานคุมทีมเยาวชน ยอง อาแจ็กซ์ ขึ้นมาดูแลงานชุดใหญ่จนจบซีซั่นเป็นอย่างน้อย — ซึ่งก็สุดที่จบซีซั่นนั่นเองหลังจาก อาแจ็กซ์ จบด้วยการเป็นแค่อันดับ 3 เอเรดิวิซี่ 2022/23 และแพ้นัดชิง เคเอ็นวีบี คัพ อย่างฉิวเฉียด (แพ้จุดโทษ พีเอสวี) ซึ่งหมายถึง “มือเปล่า”

จาก ชรอยเดอร์ สู่ ไฮติงก้า แล้วเมื่อมาเป็นซีซั่นใหม่ 2023/24 นี้ ก็กลายเป็นของใหม่อีกรายอย่าง มัวริซ สไตน์ (Maurice Steijn) โค้ชดัตช์วัย 49 ผู้เคยผ่านประสบการณ์กับทั้ง เอดีโอ เดน ฮาก, วีวีวี-เวนโล, อัล วาห์ด้า ในยูเออี, เอ็นเอซี เบรด้า และ สปาร์ต้า ร็อตเตอร์ดัม มาก่อน

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรต้องตั้งคำถามแล้วว่า มัวริซ สไตน์ ไหวไม่ไหว เมื่อ 7 นัดผ่านไปด้วยการแพ้ 4 เกม และจมที่ตำแหน่งรองบ๊วยของตาราง

ยิ่งไปกว่าเก้าอี้โค้ชที่ไม่นิ่ง ตำแหน่งสำคัญหลายๆ จุดก็เกิดความเปลี่ยนแปลงจนน่าตกใจเช่นกัน

กุมภาพันธ์ 2022 – มาร์ค โอเวอร์มาร์ส ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการฟุตบอล

พฤษภาคม 2023 – สเวน มิสลินทัต เข้ามารับตำแหน่งแทน โอเวอร์มาร์ส

มิถุนายน 2023 – เอ๊ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ สละตำแหน่ง ซีอีโอ หลังรับงานมา 10 ปีเต็ม

กันยายน 2023 – สเวน มิสลินทัต ถูกไล่ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬา

ตุลาคม 2023 – หลุยส์ ฟาน กัล ถูกดึงมารับตำแหน่งที่ปรึกษา (supervisory board)

Louis van GaalLouis van Gaal‘วิถีทาง’ มีปัญหา

แรกสุดคือ กุนซือใหม่ ดูจะปั้นทีมใหม่ของตัวเองไม่ค่อยไหว

ถัดมาคือ ความไม่นิ่งภายในสโมสร ตำแหน่งสำคัญๆ มีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง

และสามที่สำคัญมากก็คือ การต้อง “รีเซ็ตตัวเอง” ใหม่อยู่นั่นในทุกซัมเมอร์ก่อนเปิดซีซั่น ด้วยนโยบายการทำทีมแบบ “พร้อมขายเสมอเมื่อเธอหอบเงินมา”

ชัดเจนอยู่แล้วและเป็นสิ่งที่ อาแจ็กซ์ ก็ยอมรับแต่โดยดีว่า การ “ขายนักเตะกิน” คือสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจเลี่ยงได้ เมื่อตัวเองสังกัดอยู่ในลีกระดับ “รองลงมา” ความสนใจจากทั่วโลกที่มีต่อ เอเรดิวิซี่ มีไม่มาก เงินทุนที่หมุนเวียนภายในลีกจึงมีไม่มากนักเช่นกัน ครั้นจะพยายามสู้เพื่อให้ได้แชมป์ แชมเปี้ยนส์ ลีก (และเงินรางวัลมหาศาล) อย่างสม่ำเสมอก็เป็นงานยากเกินไป (แชมป์หนสุดท้าย ปี 1995 โน่น) สู้ลงทุนสร้างนักเตะจากอะคาเดมี่ หรือดึงตัวเข้าตาๆ จากทีมอื่นมาปั้นต่อ แล้วขายออกเพื่อทำกำไร แบบนี้สิง่ายกว่า และได้เงินเร็วกว่าด้วย

 พวกเขา “ขาย” ใครไปบ้างและทำเงินเข้าสโมสรได้เท่าไหร่ในตลอด 5 ปีหลัง ไปดู…

  • 2019/20 : 201 ล้านยูโร

    เฟรงกี้ เดอ ยอง (บาร์เซโลน่า) 75 ล้านยูโร

    มัทไธส์ เดอ ลิกท์ (ยูเวนตุส) 75 ล้านยูโร

    แคสเปอร์ โดลเบิร์ก (นีซ) 20.5 ล้านยูโร

    มักซิมิเลียน โวเบอร์ (เซบีย่า) 10.5 ล้านยูโร

    ดาลี่ย์ ซิงค์กราเฟน (เลเวอร์คูเซ่น) 5 ล้านยูโร

    ราสมุส นิสเซ่น (เร้ดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก) 5 ล้านยูโร

    ไค เซียร์ฮุยส์ (แร็งส์) 4 ล้านยูโร

    มาเตโอ คาสเซียร์ร่า (เบเลเนนส์) 2.5 ล้านยูโร

    ดานี่ เดอ วิท (อาแซด) 2 ล้านยูโร

    ลาสเซ่ โชเน่ (เจนัว) 1.5 ล้านยูโร

  • 2020/21 : 117.5 ล้านยูโร

    ฮาคิม ซีเย็ค (เชลซี) 40 ล้านยูโร

    ดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค (แมนฯ ยูไนเต็ด) 39 ล้านยูโร

    แซร์จินโญ่ เดสท์ (บาร์เซโลน่า) 21 ล้านยูโร

    ควินซี่ โพรเมส (สปาร์ตัก มอสโก) 8.5 ล้านยูโร

    สเวน บ็อตมัน (ลีลล์) 8 ล้านยูโร

    โยเอล เฟลท์มัน (ไบรท์ตัน) 1 ล้านยูโร

  • 2021/22 : 27 ล้านยูโร

    ดาวิด เนเรส (ชัคตาร์) 12 ล้านยูโร

    ลาสซิน่า ตราโอเร่ (ชัคตาร์) 10 ล้านยูโร

    เคลล์ เชอร์เพน (ไบรท์ตัน) 5 ล้านยูโร

  • 2022/23 : 215 ล้านยูโร

    อันโตนี่ (แมนฯ ยูไนเต็ด) 95 ล้านยูโร

    ลิซานโดร มาร์ติเนซ (แมนฯ ยูไนเต็ด) 57 ล้านยูโร

    เซบาสเตียง อัลแลร์ (ดอร์ทมุนด์) 31 ล้านยูโร

    ไรอัน กราเฟนแบร์ก (บาเยิร์น) 18.5 ล้านยูโร

    แพร์ ชูร์ส (โตริโน่) 9 ล้านยูโร

    นิโกลัส ตายาฟิโก้ (ลียง) 4.2 ล้านยูโร

    อองเดร โอนาน่า (อินเตอร์) ฟรี

    นูสแซร์ มาซราอุย (บาเยิร์น) ฟรี

  • 2023/24 : 155.5 ล้านยูโร

    โมฮัมเหม็ด คูดุส (เวสต์แฮม) 43 ล้านยูโร

    ยูร์เรียน ทิมเบอร์ (อาร์เซน่อล) 40 ล้านยูโร

    เอ๊ดสัน อัลวาเรซ (เวสต์แฮม) 38 ล้านยูโร

    แคลวิน บาสซี่ย์ (ฟูแล่ม) 22.5 ล้านยูโร

    โมฮาเหม็ด ดารามี่ (แร็งส์) 12 ล้านยูโร

    ดาวี่ คลาสเซ่น (อินเตอร์) ฟรี

    ดูซาน ทาดิช (เฟเนร์บาห์เช่) ฟรี

5 ปี ขายออกไปหลายสิบ และได้เงินมา… 716 ล้านยูโร

นี่คือดีลเมเจอร์ ไม่รวมยิบย่อยอีกมาก

 

อาจใช่ที่ว่า อาแจ็กซ์ ไม่ได้กอบโกยเงินรายได้ทั้งหมดเข้ากระเป๋า พวกเขายังปลิ้นออกไปเพื่อซื้อนักเตะใหม่มาเติมอยู่เรื่อยๆ เช่นซัมเมอร์ล่าสุดนี้ก็ซื้อเยอะเลย จ่ายไปร้อยกว่าล้าน ได้มาอย่างเช่น คาร์ลอส ฟอร์บส์, ชูบา อัคพอม, โยซิป ซูตาโล่, จอร์เจส มิคอทัดเซ่ หรือ บอร์นา โซซ่า

แต่การที่ต้อง “รีเซ็ตตัวเอง” ใหม่ในทุกซัมเมอร์ ก็คงหมายถึงแก้วที่โดนเคาะอย่างแรงอยู่เรื่อยๆ จนเกิดแตกร้าวมากขึ้นทีละนิด และเมื่อมากเข้าก็แตกเพล้งในที่สุด

ชัดเจนว่า ขุมกำลังที่พยายามสร้างใหม่ในซีซั่นนี้ ไม่เข้าที่เข้าทางอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งเมื่อบวกกับกุนซือดูจะมือไม่ถึงอีก ก็ ป.ก.ญ. ไป-กัน-ใหญ่

และอันที่จริง ปัญหาก็ส่อแววให้เห็นมาตั้งแต่ซีซั่นก่อนแล้ว ที่ภายใต้การทำทีมของ อัลเฟรด ชเราเดอร์ และมือใหม่อย่าง ไฮติงก้า พวกเขาเข้าป้ายแค่อันดับ 3 เอเรดิวิซี่ จนอดไปทำเงินใน ชปล. และต้องลุยถ้วยเล็กอย่าง ยูโรป้า ลีก เท่านั้น

ด้วยวิถีทางของ อาแจ็กซ์ เอง แม้จะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ แต่เมื่อสร้างทีมชั้นดีขึ้นทดแทนใหม่ไม่ทัน ก็เกิดปัญหาขึ้นอย่างที่เห็น

เพราะแก้วที่มันร้าว ไม่นานก็คงจะแตก

ใจแฟนบอลที่มันร้าว ก็เริ่มที่จะแหลกจนพวกเขาทนไม่ไหวแล้ว เกิดเป็นเสียงโห่และกระแสต่อต้านที่พุ่งตรงถึงสโมสรในทุกเกม ที่จะไม่เปลี่ยนแปลงด้วยจนกว่าผลงานจะดีขึ้นอย่างจับต้องได้ และพ้นไปจากวิกฤตการณ์ที่กำลังเป็น

Dutch EredivisieFC Utrecht v Ajax AmsterdamDutch EredivisieFC Utrecht v Ajax Amsterdam